cad10 >> ข่าวสำนักงาน

กตส.จัดอบรมติวเข้มการสอบบัญชีสหกรณ์ ปรับรูปแบบยึดตามมาตรฐานสากล
 
         กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร การบริหารจัดการงานสอบบัญชีตามแนวทางการปฏิบัติงาน ปีงบประมาณ ๒๕๕๗ รุ่นที่ ๑ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบัญชีและการสอบบัญชี กลุ่มกำกับมาตรฐานการบัญชี หัวหน้าสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้สอบบัญชีสหกรณ์ ในพื้นที่สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ ๓, ๘, ๙ และข้าราชการของสำนักมาตรฐานการบัญชีและการสอบบัญชี รวม ๙๘ คน เข้าร่วมในการอบรม ระหว่างวันที่ ๒-๔ ธันวาคม ๒๕๕๖ ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานคร
         นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีภารกิจหลัก ได้แก่ การตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ให้เป็นไปตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไป ทั้งนี้ สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีการปรับเปลี่ยนมาตรฐานการบัญชี และมาตรฐานการสอบบัญชีในหลายเรื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการสอบบัญชี (international–TSA) ซึ่งประเทศต่างๆทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ถือใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชี ทั้งในส่วนของมาตรฐานการสอบบัญชี ซึ่งปรับปรุงการเขียนรายงานการสอบบัญชีและรายงานผลการตรวจสอบบัญชีต่องบการเงินรูปแบบใหม่ กรมฯ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบงบการเงินและการเขียนรายงานให้สอดคล้องตามสภาวิชาชีพบัญชีกำหนด เพื่อให้เป็นมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป โดยจะถือใช้งบการเงินรูปแบบใหม่และการเขียนรายงานการสอบบัญชีต่องบการเงินรูปแบบใหม่ ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๗ นอกจากนี้ ตามแนวทางการปฏิบัติงาน ปีงบประมาณ ๒๕๕๗ ได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานโดยกำหนดให้สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ ๑-๑๐ และสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ทุกจังหวัด รับภารกิจหน้าที่ในการกำกับดูแลการสอบบัญชีสหกรณ์โดยผู้สอบบัญชีภาคเอกชน โดยจะต้องทำหน้าที่กำกับดูแลทั้งสหกรณ์และผู้สอบบัญชีภาคเอกชน ซึ่งจะมีแนวทางการปฏิบัติงานที่แตกต่างและมีส่วนที่ต้องปฏิบัติเพิ่มขึ้นจากภารกิจหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเป็นประจำเพื่อให้การดำเนินงานของสหกรณ์และผู้สอบบัญชีสหกรณ์ภาคเอกชนได้รับการกำกับดูแลจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้อย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น
         อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวอีกว่า ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีบรรลุผลตามมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปและเกิดผลในทางปฏิบัติ บุคลากรของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยเฉพาะผู้บริหารงานสอบบัญชี ผู้สอบบัญชี หัวหน้าสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในการปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้น มีความเข้าใจในกระบวนการทำงานที่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน การอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร การบริหารจัดการงานสอบบัญชีตามแนวทางการปฏิบัติงาน ปีงบประมาณ ๒๕๕๗ ซึ่งกรมฯ จัดขึ้น ในครั้งนี้ จะทำให้ผู้สอบบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการการเขียนรายงานการสอบบัญชีตามมาตรฐานการสอบบัญชีปัจจุบัน ได้ฝึกปฏิบัติการเขียนรายงานการสอบบัญชีภายใต้กรณีศึกษาที่จำลองมาจากสถานการณ์จริงในภาคปฏิบัติ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม และมีความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลสหกรณ์ที่มอบหมายให้ผู้สอบบัญชีภาคเอกชนตรวจสอบบัญชี รวมถึงการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีภาคเอกชน มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ อันจะส่งผลให้ผู้สอบบัญชีที่เป็นข้าราชการของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์สามารถปฏิบัติงานตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล สอดคล้องกับมาตรฐานการสอบบัญชีที่เป็นสากล และแนวทางการปฏิบัติงาน ปีงบประมาณ ๒๕๕๗ โดยมีทั้งการบรรยาย และฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ รูปแบบการเขียนรายงานการสอบบัญชีต่องบการเงินเปรียบเทียบในสถานการณ์ต่างๆ ตามมาตรฐานการสอบบัญชีปัจจุบัน การฝึกปฏิบัติ การเขียนรายงานการสอบบัญชีในสถานการณ์ต่างๆ การกำกับดูแลสหกรณ์ และผู้สอบบัญชีภาคเอกชน และยังได้รับเกียรติจากอาจารย์ณัฐเสกข์ ฉิมโฉม ที่ปรึกษาคณะกรรมการวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ด้านการสอบบัญชี และบุคลากรของสำนักมาตรฐานการบัญชีและการสอบบัญชี มาบรรยายให้ความรู้ในครั้งนี้ ซึ่งผู้เข้ารับการอบรม จะได้นำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป ทั้งนี้ การอบรมดังกล่าว จัดขึ้น จำนวน ๔ รุ่น ระหว่างเดือนธันวาคม ๒๕๕๖ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบัญชีและการสอบบัญชี กลุ่มกำกับมาตรฐานการบัญชี หัวหน้าสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้สอบบัญชีสหกรณ์ ในพื้นที่สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ ๑-๑๐ และข้าราชการของสำนักมาตรฐานการบัญชีและการสอบบัญชี เข้าร่วมในการอบรม รวม ๓๗๔ คน.